วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

กระสูบขีด กระสูบ สูด





ชื่อไทย : กระสูบขีด กระสูบ สูด

ชื่อสามัญ : Banded shark, Transverse-bar barb, Hampala barb

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hampala macrolepidota Kuhl & Van Hasselt, 1823

ชื่อวงศ์ : Cyprinidae

ถิ่นอาศัย : แม่น้ำ หนอง บึง ในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป : รูปร่างกลมเพรียวยาวแบนข้างเล็กน้อย ด้านข้างลำตัวมีแถบขวางบริเวณใต้ครีบหลังลงมาถึงท้อง ลำตัวสีขาวเงินส่วนหลังมีสีคล้ำครีบมีสีแดงเรื่อ ขอบบนและขอบล่างของครีบหางมีแถบสีคล้ำ
ขนาดเฉลี่ยความยาวประมาณ 25 ซม. ในปลาขนาดเล็กมีแถบ 2 แถบที่กลางลำตัวและโคนหาง และมีแถบใต้ตาด้วย
อาหาร : ปลาขนาดเล็ก

การเลี้ยงในตู้ปลา : เลี้ยงเป็นฝูงในตู้ปลาขนาดกลางว่ายน้ำรวดเร็วมีสีสันสวยงามอุปนิสัยค่อนข้างก้าวร้าวเลี้ยงรวมกับพันธุ์ปลาชนิดอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันได้

แขยงธง แขยงธงเผือก





ชื่อไทย : แขยงธง แขยงธงเผือก

ชื่อสามัญ : Bocourt’s river cat fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mystus bocourti (Bleeker, 1864)

ชื่อวงศ์ : Bagridae

ถิ่นอาศัย : ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำโขง

ลักษณะทั่วไป : รูปร่างยาว ลำตัวแบนข้างมาก หัวเล็กแหลม หนวดที่มุมปากยาวถึงหางกระโดงหลังยาวไม่มีหยัก ครีบไขมันยาวอยู่ชิดกับครีบหลังตาค่อนข้างโตครีบหางเป็นแฉกเว้าลึกแฉกบนยาวกว่าแฉกล่าง พื้นลำตัวมีสีเหลืองอมเขียว ครีบหลังและครีบท้องสีเขียว บริเวณฐานของครีบมีสีแดงครีบไขมันและครีบหางสีเขียว ขนาดเฉลี่ยความยาวประมาณ 15 ซม.

อาหาร : ปลาขนาดเล็ก ลูกกุ้ง แมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย

การเลี้ยงในตู้ปลา : เลี้ยงในตู้ร่วมกับปลาไม่มีเกล็ดชนิดอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันจัดตู้โดยวางวัสดุตกแต่งประเภทก้อนหินหรือขอนไม้ เพื่อให้มีที่หลบซ่อน

กระดี่ กระดี่หม้อ





ชื่อไทย : กระดี่ กระดี่หม้อ

ชื่อสามัญ : Blue gourami, Three-spot gourami

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogaster trichopterus (Pallas, 1770)

ชื่อวงศ์ : Osphronemidae

ถิ่นอาศัย : แหล่งน้ำทั่วไปในภาคของประเทศไทยและประเทศอื่นในแถบอินโดจีน

ลักษณะทั่วไป : ลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมากพื้นลำตัวมีสีเทาอ่อน มีแถบสีน้ำตาลอมเทาพาดเฉียงตลอดลำตัว ด้านข้างลำตัวมีจุดสีส้มอมน้ำตาลหรือสีดำขนาดใหญ่ 2 จุดอยู่บริเวณกึ่งกลางลำตัว 1 จุด บริเวณโคนครีบหางอีก1 จุด แต่เหตุที่มีชื่อเรียกเรียก Three spot gourami เนื่องจากนับรวมตาเข้าไปอีก 1 จุด บริเวณครีบหลังครีบก้นและครีบหางมีจุดสีเหลืองกระจายทั่วไปในปลาตัวผู้ สีจะเข้มจนเป็นสีส้มปากมีขนาดเล็กยื่นเฉียงขึ้นด้านบนตาโตตั้งอยู่ในระดับเดียวกับปากขนาดเฉลี่ยความยาวประมาณ 10 ซม.

อาหาร : แพลงก์ตอนพืช พืชน้ำขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลงน้ำ

การเลี้ยงในตู้ปลา : เลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำปัจจุบันมีการคัดพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์เผือกเรียก“กระดี่เผือก”



กัดหัวโม่ง





ชื่อไทย : กัดหัวโม่ง

ชื่อสามัญ : Mouthbrooder betta

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Betta prima Kottelat, 1994

ชื่อวงศ์ : Osphronemidae

ถิ่นอาศัย : จะอาศัยอยู่ตามกอหญ้าริมน้ำตกหรือธารน้ำไหล ในแถบภาคตะวันออกของไทย

ลักษณะทั่วไป : เป็นปลากัดประเภทอมไข่ ปลากัดหัวโม่งมีตัวโต ปลายปากแหลม ครีบทุกครีบใสโปร่งแสง ลำตัวสีเขียวอ่อน มีแถบสีดำพาดตามความยาวลำตัว3 แถบ ตากลมโตสีเหลือง มีใหญ่สุดความยาวประมาณ 10 ซม. ปลาตัวผู้ครีบทุกครีบแหลมยาวกว่าตัวเมีย ตัวเมียไม่มีจุดไข่นำเหมือน
ปลากัดประเภทก่อหวอดปจัจุบันสามารถเพาะขยายพันธุได้แล้วในที่เลี้ยง

อาหาร : ไรน้ำ ลูกน้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ

การเลี้ยงในตู้ปลา : ปลากัดชนิดนี้เป็นปลาที่มาจากเขตน้ำไหล ต้องการออกซิเจนสูงจึงต้องใส่หัวทราย หรือเครื่องพ่นน้ำเพื่อให้ปลาได้รับออกซิเจนเพียงพอเป็นปลาที่ชอบกระโดด จึงควรปลูกไม้น้ำทึบเข้าไว้หรือต้องมีฝาปิดเสมอไม่มีพฤติกรรมดุร้าย ก้าวร้าวเหมือนปลากัดจำพวกก่อหวอด จึงสามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายตัว

ตองลาย





ชื่อไทย : ตองลาย

ชื่อสามัญ : Stripped knife fish, Tiger knife fish,Blanc’s strippedfeatherback

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chitala blanci (d’Aubenton, 1965)

ชื่อวงศ์ : Notopteridae

ถิ่นอาศัย : แม่น้ำโขง

ลักษณะทั่วไป : เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวด้านข้างแบนมาก ลำตัวมีสีขาวเงินครึ่งท้ายของลำตัวมีแถบสีดำหลายแถบทอดขวางไปถึงครีบก้นและครีบหาง บริเวณส่วนหน้าของลำตัวมีจุดสีดำขนาดปานกลางกระจายอยู่ทั่วไป เกล็ดขนาดเล็กละเอียด ครีบก้นยาวมากเชื่อมกับครีบหางเป็นครีบเดียวกัน ครีบหลังและครีบหูมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบท้องขนาดเล็กมาก

ขนาดเฉลี่ยความยาว : ประมาณ 60 ซม.

อาหาร : ปลาขนาดเล็ก ลูกกุ้ง และสัตว์น้ำขนาดเล็ก

การเลี้ยงในตู้ปลา : เลี้ยงในตู้ปลาขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยขอนไม้ หรือพรรณไม้น้ำ หากเลี้ยงเป็นฝูงเล็กต้องมีขนาดไล่เลี่ยกัน